เศรษฐกิจหมุนเวียนของ GC

Sustainability Story | 16 กันยายน 2563

แนวทางการจัดการ 

เป้าหมาย 

บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายประเมินศักยภาพองค์กรด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามมาตรฐาน BS 8001:2017 ทั่วทั้งกลุ่มบริษัทฯ รวมทั้งกำหนดเป้าหมายการลงทุนเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงชนิด rPET และ rHDPE ที่มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงชนิด rPET 30,000 ตันต่อปี และ rHDPE 15,000 ตันต่อปี ภายในปี 2563 และจะเริ่มใช้ในเชิงพาณิชย์ในปี 2564 

ความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจ 

การสร้างความตระหนักในสังคมให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ “ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด” กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้คนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างจริงจังมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณค่าร่วมกันอย่างยั่งยืนตามหลัก “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy” เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์หรือวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้สำหรับทุกภาคส่วน และกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้บริหารและพนักงาน รวมถึงวิเคราะห์และประเมินระดับการดำเนินงานตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในปัจจุบันของบริษัทฯ ตามมาตรฐาน BS 8001:2017 พร้อมทั้งกำหนดขอบเขตของการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัทฯ 

เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ปัจจุบัน ประชากรโลกที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเร่งการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และทำให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก ดังนั้น บริษัทฯ จึงสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนภายใต้ ”หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่เข้ามามีบทบาทและนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายในการดำเนินงานขั้นตอนต่าง ๆ ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การเปลี่ยนวงจรการใช้ทรัพยากรให้มีการหมุนเวียนได้มากที่สุด หรือการเปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาเป็นการใช้ทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Renewable Resources) หรือนำทรัพยากรที่มาจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว (Re-Material) มาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงเป็นการลดปริมาณการเกิดของเสียให้น้อยที่สุดตลอดทั้งกระบวนการ 

  
 บริษัทฯ มุ่งเน้นในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสร้างดุลยภาพการพัฒนาระหว่างด้านเทคโนโลยีกับด้านชีวภาพ เพื่อลดการเกิดของเสียและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยบูรณาการหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน 3 ด้าน คือ 

การยกระดับการบริหารและดำเนินงานอย่างยั่งยืน (Smart Operating) 

เศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำไปสู่การลดปริมาณการฝังกลบของเสียชุมชนและของเสียอุตสาหกรรมให้เป็นศูนย์ผ่านแนวคิด 5 Rs (Reduce, Reuse, Recycle, Renewable และ Refuse) ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในการลดสัดส่วนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถทดแทนได้ และไปเพิ่มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนแทน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ริเริ่มการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยจัดทำโครงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และลดปริมาณการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ 

โครงการอนุรักษ์พลังงาน 

  • บริษัทฯ ดำเนินโครงการ Heat Integrate Deheptanizer Overhead with Benzene Column Reboiler ในพื้นที่ปฏิบัติการบริษัทฯ สาขา 5 (โรงอะโรมาติกส์ 2) เพื่อลดการใช้พลังงานไอน้ำ โดยการแลกเปลี่ยนความร้อนระหว่างส่วนบนของหอกลั่นแยก C7 กับเครื่องทำความร้อน (Reboiler) ที่หอกลั่นแยกเบนซีน กลับมาใช้ใหม่ตามหลักการ Heat Integration โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทฯสามารถลดลดการใช้พลังงาน 181,007 กิกะจูลต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 19,910 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต 80 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย 
  • บริษัทฯ ดำเนินโครงการฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงกลั่นน้ำมัน ด้วยการนำพลังงานความร้อนที่สูญเสียไปในบรรยากาศกลับมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิต ส่งผลให้มีการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติที่เตาเผาและระบบผลิตไฟฟ้าและไอนํ้าลดลง โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทฯสามารถลดลดการใช้พลังงาน 336,880 กิกะจูลต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 18,913 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต 104 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย 

โครงการพลังงานทดแทน 

  • บริษัทฯ ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2 เมกกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับการใช้ประโยชน์ภายในบริษัทฯ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 6,778 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อวันโครงการลดปริมาณมลพิษและของเสียต่อสิ่งแวดล้อม 

โครงการลดปริมาณมลพิษและของเสียต่อสิ่งแวดล้อม 

  • บริษัทฯ ร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรม ปตท. ในการออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนความร้อนที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาซึ่งสามารถนำไปติดตั้งในโรงงานที่มีพื้นที่จำกัด จากผลการศึกษาคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถลดการใช้สารตั้งต้น โดยสามารถควบแน่นสารไฮโดรคาร์บอนที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิตนำกลับมาใช้ใหม่ 700 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าถึง 22.3 ล้านบาทต่อปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศได้เท่ากับ 355 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี 
    บริษัทฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสม 235,377 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของโรงงานผลิตโซเดียมคาร์บอเนต ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน 

การนำของเสียไปใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนของโรงงานอื่น 

  • โครงการบริหารจัดการ Mercury Waste จากโรงงานอะโรเมติกส์และโรงกลั่น เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ 
  • การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้พนักงานคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างถูกต้องภายในอาคารสำนักงาน เช่น การคัดแยกขยะพลาสติก แก้ว กระดาษที่ใช้แล้ว เพื่อนำกลับไปผลิตใหม่ การคัดแยกเศษอาหารเพื่อให้ชุมชนไปทำอาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น 
  • การนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Seawater Reverse Osmosis, SWRO) และการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Reverse Osmosis, WWRO) และช่วยในการบริหารจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น 
  • การนำก๊าซที่ไหลออกจากระบบ (Off Gas) จากโรงงานอะโรเมติกส์ ได้แก่ ก๊าซอีเทน โพรเพน และบิวเทน ไปใช้เป็นสารตั้งต้นให้กับโรงงานโอเลฟินส์ แทนการเผาทิ้ง และการนำกากของเสีย (Heavy Residue) จากโรงผลิตสารฟีนอล เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันเตา (Fuel Oil) ในโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งปี 2563 บริษัทฯ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 107 ล้านบาทต่อปี 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Responsible Caring) 

บริษัทฯ จัดทำแนวทางการประเมินการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) โดยอ้างอิงมาตรฐาน ISO 14062 เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ปัจจุบันบริษัทฯ ได้นำ Eco-design criteria มาใช้ในการประเมินผลิตภัณฑ์ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 3 pack PE packaging, Bio EBM-2018, Bio Tuna cup-2018, Royal project phase II-2018 และESD HIP for E&E ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดปริมาณการใช้วัตถุดิบและของเสียในการผลิต ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง การใช้วัตถุดิบหมุนเวียนแทนการใช้วัตถุดิบจากฟอสซิล ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวทางการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบด้านความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน 

บริษัทฯ ได้ผนวกแนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงการเลือกหรือลดการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ 

ผลิตภัณฑ์ที่สมรรถนะสูง 

  • บริษัทฯ พัฒนาเม็ดพลาสติกคอมพาวด์สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งผ่านการทดสอบความสามารถในการทนต่อสภาวะแวดล้อมและมาตรฐานตามข้อกำหนดของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังร่วมกับลูกค้ากำหนดสภาวะการขึ้นรูปในการผลิตผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2562 บริษัท โซลูชั่น ครีเอชั่น จำกัด ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้ในเชิงพาณิชย์ภายใต้แบรนด์ “PlastMate” ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของบริษัทฯ ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้คาดว่าโครงการนี้จะสร้างรายได้ให้บริษัทฯ กว่า 24 ล้านบาท 
  • บริษัทฯ พัฒนาปรับปรุงคุณสมบัติของเม็ดพลาสติกให้สอดรับกับเครื่องจักรขึ้นเส้นใย Monofilament แบบความเร็วสูงของลูกค้า พร้อมทั้งเพิ่มคุณสมบัติของเม็ดพลาสติกให้สามารถขึ้นเส้นใยที่มีความเหนียวและความแข็งแรงมากกว่าเดิม เป็นการลดต้นทุนและลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าโครงการนี้จะสร้างรายได้ให้บริษัทฯ ประมาณ 900 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถขยายตลาดไปสู่ลูกค้ารายอื่นๆ 
  • บริษัทฯ ลงทุนกับบริษัท AREVO ซึ่งเป็น Startup ที่พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติสำหรับวัสดุคอมพอสิต ทำให้สามารถขึ้นรูปที่มีลักษณะพิเศษหรือซับซ้อนได้โดยใช้พลังงาน ระยะเวลา และต้นทุนที่ต่ำกว่ากระบวนการขึ้นรูปชิ้นงานคอมพอสิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องบิน อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีคุณสมบัติเด่น ด้านความแข็งแรงมากกว่าไทเทเนียม 5 เท่า แต่ให้น้ำหนักที่เบามากกว่า 3 เท่าตัว อีกทั้งยังเป็นการใช้วัสดุคอมพอสิตที่สามารถรีไซเคิลได้ ถือเป็นนวัตกรรมเลียนแบบธรรมชาติสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหนักเบาอย่างยั่งยืน 

ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ 

บริษัทฯ ได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ 100% หรือ BioPBS โดยสามารถนำมาใช้ทดแทนเม็ดพลาสติกทั่วไปในการผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งนำมาผลิตขึ้นรูปเป็นช้อน ส้อม หลอด ฟิล์ม ถุงบรรจุภัณฑ์อาหารแห้ง รวมทั้งนำมาเคลือบแก้วกระดาษใส่เครื่องดื่มร้อนและเย็น และที่สำคัญบรรจุภัณฑ์จาก BioPBS สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ความร้อน ความชื้น และแบคทีเรียในดิน ทำให้สามารถทิ้งบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวไปพร้อมกับขยะอินทรีย์ หรือเศษอาหาร ซึ่งหลังการฝังกลบลงดิน บรรจุภัณฑ์จะถูกจุลินทรีย์ในดินย่อยสลายกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และกากชีวมวล โดยไม่ทิ้งสารตกค้างใด ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ กว่า 1,223 ล้านบาทต่อปี 

  

  • การพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ 
  • การพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมส่งเสริมการรับรู้ของผู้อุปโภคบริโภคถึงผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ย่อยสลายทางชีวภาพหรือมีคุณสมบัติพิเศษ รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดตลอดจนสนับสนุนนโยบายภาครัฐเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อน 

การแปรรูปของเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 

  • บริษัทฯ มุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตัวอย่างเช่น การดำเนินโครงการ Upcycling SE Project ภายใต้บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (Sarn Palung Social Enterprise: SPSE) ของกลุ่ม ปตท. ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาสร้างมูลค่าจนได้เป็นสินค้าแฟชั่นและของใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อจัดจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายทางการค้า “Upcycling by GC” โดยสามารถนำขวด PET กลับมารีไซเคิลได้ประมาณ 505,000 ใบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 44.69 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 4,965 ต้น 

  

  • บริษัทฯ ร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) ในการนำวัสดุเหลือใช้ทั้งจากภายในร้านคาเฟ่อเมซอนและโรงคั่วกาแฟมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ทันสมัย ภายใต้แนวคิด “Circular Living” เช่น วัสดุตกแต่งผนังร้าน รูปนกมาคอร์ที่แปรรูปมาจากแก้วกาแฟพลาสติกโพลิโพรพิลีน โต๊ะกาแฟที่แปรรูปจากวัสดุเหลือทิ้งจากโรงคั่วกาแฟ และผ้าบุเก้าอี้นวมที่แปรรูปมาจากขยะขวดน้ำดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ คาเฟ่อเมซอนแห่งนี้ ยังได้เปลี่ยนมาใช้วัสดุที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ สำหรับบรรจุภัณฑ์ภายในร้าน อาทิ แก้วร้อนเป็นแก้วกระดาษเคลือบพอลิบิวทิลีนซัคซิเนต (Polybutylene Succinate: PBS) ซึ่งเป็นพลาสติกที่สลายตัวทางชีวภาพ ได้ร้อยละ 100 และแก้วเย็นที่ผลิตจากพลาสติกโพลีแลกติกแอซิด (Polylactic Acid: PLA) ที่ทำจากพืชร้อยละ 100 และหลอดพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น 

  

  • บริษัทฯ ร่วมมือกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย พัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับที่พักอาศัยที่มีคุณภาพสูงและมีความคงทน (Performance and Durable Products) เช่น ถังบรรจุน้ำที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงของบริษัทฯ และนวัตกรรมสีรักษ์โลก สำหรับใช้ทาภายในและภายนอกอาคารที่มีความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยเพราะมีส่วนผสมจากธรรมชาติ รวมถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น ไม้เทียม (Wood Composite) นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้นำเส้นใยโพลิเอสเทอร์ชนิดรีไซเคิล (Recycled Polyester) จากโครงการ Upcycling by GC มาสร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก 

  

 
 

การเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Loop Connecting) 

บริษัทฯ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่าในการพัฒนาและต่อยอดการดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสีย นำขยะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างการเชื่อมต่อธุรกิจแบบครบวงจร สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน 

บริษัทฯ ได้จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Customer Solution Center: CSC) เพื่อร่วมมือกับลูกค้าออกแบบ และเพิ่มมูลค่าของสินค้าจากขยะพลาสติกให้สามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ ตลอดจนเสริมสร้างมุมมองใหม่ในการเลือกใช้พลาสติกให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรต่อโลก สำหรับส่งมอบให้กับผู้บริโภคผ่านโครงการและนิทรรศการต่าง ๆ  

 

Source: https://www.pttgcgroup.com/th/sustainability/circular-economy